บริษัท มาสเตอร์ทีม จำกัด

ที่ปรึกษา ประกันภัย รับอนุญาต กลุ่มวิศวกร ที่มีพื้นฐานอาชีพ เป็นผู้ออกแบบระบบ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ประกันภัยชนิดพิเศษ

ข่าวสาร ประกันภัย

01-08-2017

สมาคมประกันวินาศภัยคาด 'เซินกา' สร้างความเสียหาย1 พันล้าน

"สมาคมประกันวินาศภัยไทย" ประเมินความเสียหายน้ำท่วมสกลนคร กว่า 1,000 ล้านบาท ประสานบริษัทประกันภัยทำเคลมเชิงรุก พร้อมจ่ายสินไหมน้ำท่วมทันที

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุเซินกา ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ในเขตภาคอีสาน ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินประชาชน สถานที่ราชการ ตลอดจนพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร เกิดน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 40 ปี บางแห่งมีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า โรงพยาบาล โรงแรม สนามบิน รถยนต์ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายจังหวัด

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นคาดว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงถึง 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ดังนี้

1. ความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย จากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 รวมถึงประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2+ หรือ 3+ ที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 400-500 คัน ประมาณการค่าสินไหมทดแทนทั้งแบบเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss) จะจ่ายเต็มทุนประกันภัยและหากมีความเสียหายบางส่วนจะเป็นการซ่อมแซมรถกลับสู่สภาพเดิม ประมาณการค่าเสียหายรวมกว่า 250 ล้านบาท โดยคิดเฉลี่ยจากทุนประกันภัย 500,000 บาทต่อกรมธรรม์ ซึ่งขณะนี้บริษัทประกันภัยได้เข้าไปดูแลผู้เอาประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป

2. ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ รวมถึงการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก กรมธรรม์ของผู้ประกอบการธุรกิจ SME ร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 200-500 ล้านบาท

3. ความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จากกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก โดยพื้นที่ที่ประกาศภัยพิบัติเกษตรกรจะได้รับวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ จากการประเมินในเบื้องต้น มีเกษตรกรซื้อประกันภัยข้าวนาปีกว่า 340,000 ไร่ ซึ่งถ้าเกิดความสียหายโดยสิ้นเชิงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน จำนวน 428.4 ล้านบาท ทั้งนี้ สมาคมฯ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลการทำประกันภัย และรายงานความเสียหายจากการสำรวจแปลงที่ทำประกันภัยเพื่อทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย โดยบริษัทประกันภัยทุกบริษัทพร้อมดูแลผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้อย่างเต็มที่ และเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการเกิดภัยพิบัติหลายครั้งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การประกันภัยนั้นเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โทร. 0 2256 6032-8 หรือ www.tgia.org และ โทร. 1186 สายด่วนประกันภัย สำนักงาน คปภ.

อีกทั้ง สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานกับบริษัทสมาชิกเพื่อวางมาตรการในการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยขณะนี้บริษัทประกันภัยทุกบริษัทในพื้นที่ได้เร่งระดมความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้เอาประกันภัยกันอย่างเต็มที่ พร้อมทำเคลมเชิงรุก เพิ่มช่องทางให้บริการในการสำรวจความเสียหายและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เชื่อมั่นภาคธุรกิจประกันภัยพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั้งในจังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว

สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่จากตัวแทน นายหน้า หรือธนาคารที่ใช้บริการว่ามีกรมธรรม์ใดบ้างที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม เช่น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยควรแจ้งความเสียหายให้บริษัทประกันภัยทราบทันทีที่เกิดเหตุ หรือหลังจากระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม หรือหากไม่สามารถแจ้งบริษัทประกันภัยได้ทันที ให้ถ่ายรูปความเสียหายไว้ โดยกล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์มือถือ เก็บไว้เป็นหลักฐานและแจ้งความเสียหายไปยังบริษัทประกันภัยภายหลังโดยเร็วที่สุดเพื่อดำเนินการสำรวจความเสียหายและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ