ที่ปรึกษา ประกันภัย รับอนุญาต กลุ่มวิศวกร ที่มีพื้นฐานอาชีพ เป็นผู้ออกแบบระบบ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ประกันภัยชนิดพิเศษ
17-05-2017
คปภ.เปิดเวทีการมีส่วนร่วม 4 ฝ่าย เพิ่มประสิทธิภาพคุ้มครองประชาชน ผ่านช่องทางศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย
เผย 1 ปี ข้อพิพาทสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยค่าขาดประโยชน์จากการใช้ รถยนต์ - การบอกล้างสัญญา ขึ้นแท่นแชมป์วินาศภัย-ชีวิต
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากแนวคิดที่ตกผลึกในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นผู้ชำนาญการจากภายนอกที่มีประสบการณ์และมีความเป็นกลางมาช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยตามกติกาที่เป็นระบบสากล มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยประชาชนผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ทั้งนี้ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยได้เปิดบริการประชาชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และครบรอบการดำเนินงาน 1 ปี เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการไกล่เกลี่ยจากภายนอก ทั้งสิ้น 160 เรื่อง สามารถยุติข้อพิพาทได้จำนวน 125 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 78.13 โดยแบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนด้านประกันวินาศภัย ยอดนิยม 5 อันดับแรก ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ คือ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ กรณีราคาค่าซ่อมรถยนต์ (ตกลงราคากันไม่ได้) กรณีการซ่อมล่าช้า กรณีค่าสินไหมทดแทนที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บเสียชีวิต และกรณีค่ารักษาพยาบาล
ส่วนเรื่องร้องเรียนด้านประกันชีวิต ยอดนิยม 4 อันดับแรก ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ คือ กรณีการบอกล้างสัญญาประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 กรณีค่าชดเชยรายวันตามสัญญาพิเศษเพิ่มเติม กรณีเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ และกรณีการเสนอขายกรมธรรม์
เลขาธิการ คปภ.กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และมีความตั้งใจจริงที่จะคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านประกันภัยให้กับผู้ไกล่เกลี่ยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเห็นได้จาก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะและถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ตลอดจนการศึกษาประเด็นปัญหาข้อพิพาทและเทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้กับผู้ไกล่เกลี่ยและพนักงานของ สำนักงาน คปภ. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นในโอกาสที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯเปิดทำการครบ 1 ปี ก็น่าจะถึงเวลาที่ สำนักงาน คปภ. จะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาคประชาชน ผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย และหน่วยงานกำกับดูแล คือ สำนักงาน คปภ. โดยผู้ไกล่เกลี่ย มาพบกันในเวทีที่เป็นกลาง ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ทั้งนี้เพื่อรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่าศูนย์ไกล่เกลี่ยได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเพื่อร่วมกันหาแนวทางปรับปรุงการทำงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการให้ความคุ้มครองด้านการประกันภัยแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. 2559 โดยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการไกล่เกลี่ย วิธีการไกล่เกลี่ย การสิ้นสุดแห่งกระบวนการไกล่เกลี่ย ฯลฯ ไว้อย่างเป็นระบบครบวงจร ทำให้ประชาชนที่มาร้องเรียนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านประกันภัยมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาท และระเบียบนี้ยังได้วางแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. ด้วยว่า เมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้วจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นและชี้แจงทำความเข้าใจกับคู่กรณี หากในขั้นตอนนี้สามารถตกลงกันได้ก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้และหากคู่กรณีตัดสินใจใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กลไกของระเบียบฯนี้ก็จะเริ่มทำงานทันที และหากคู่กรณีสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ ก็จะทำให้ข้อพิพาทนั้นยุติลงด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ในชั้นไกล่เกลี่ย คู่กรณีก็ยังสามารถเลือกเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. มีระบบอนุญาโตตุลาการรองรับไว้เป็นทางเลือกให้กับคู่กรณีด้วยเช่นกัน
ที่มา : คปภ.